ท่ามกลางเบียร์หลายร้อยตัวในบ้านเราที่ไม่ว่าคุณจะชอบดื่มเบียร์สไตล์ไหนก็พอจะตามหามาลองกันได้เกือบครบ ยังมีคนอีกมากมายที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ทุกวันนี้มีคราฟท์เบียร์ฝีมือคนไทยมากกว่า 70 ฉลากแล้ว
เวลาพูดถึงคราฟท์เบียร์ไทย คำถามที่มักจะผุดขึ้นมาก็คือ
เอาเป็นว่า เรามีสตอรี่สั้นๆ มาเล่าให้ฟังค่ะ (เอ๊ะ หรือไม่สั้น)
ในบ้านเราทุกวันนี้ มีบริวเวอร์ หรือ “คนต้มเบียร์” กระจายอยู่ทั่วประเทศนับร้อยค่ะ ซึ่งตัวเลขนี้พุ่งสูงขึ้นแทบจะเป็นกราฟเส้นตรงใน 2-3 ปีที่ผ่านมาเลยทีเดียว อาจจะด้วยเพราะเรา Google/ Youtube กันได้ง่ายขึ้น มีการสอนต้มเบียร์กันอย่างแพร่หลาย รวมถึงการที่เราสามารถหาซื้ออุปกรณ์และวัตถุดิบได้ง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ใครๆ ในประเทศไทยก็เข้าถึงสิ่งเหล่านี้ได้และมีงานอดิเรกเป็นการต้มเบียร์ได้ ต้มไปเรื่อยๆ จนได้เบียร์ที่ดี อร่อย สามารถจำหน่ายได้ ก็เริ่มมีอาชีพต้มเบียร์ขายขึ้นมา ซึ่งด้วยจำนวนผลิตอันน้อยนิดแบบนี้ เราจึงเรียกมันว่าคราฟท์เบียร์ค่ะ ซึ่งก็ใช้หม้อก๋วยเตี๋ยวหรืออุปกรณ์ชุดเล็กๆ ต้มกันหลังบ้านแบบที่เรียกว่า Homebrew นั่นเอง
แต่ปัญหามันอยู่ตรงที่ ประเทศไทยไม่สามารถสร้าง Micro Brewery หรือโรงต้มเบียร์ขนาดเล็กได้เพราะมันผิดกฏหมาย หลายๆ คนคิดว่ามีการกีดกันทางการค้า แต่หลักๆ น่าจะเกิดจากความล้าหลังของกฏหมายไทย แล้วก็ความซีเรียสเรื่องมาตรฐานของโรงงานพวกนี้ด้วย ถ้าจะทำให้ถูกต้อง ยังไงก็ใช้เงินเยอะแน่นอน ทุนจดทะเบียนของการสร้างโรงเบียร์ในไทยก็เลยมีขั้นต่ำอยู่ที่ 10 ล้านบาททีเดียว ตาสีตาสา จะมาทำโรงเบียร์ SME แบบญี่ปุ่นนี่อย่าหวังเลย
เผอิญว่าคนไทยเนี่ย ถ้าตั้งใจก็ไม่แพ้ชาติใดในโลกค่ะ คราฟท์เบียร์ไทยเลยกลายเป็นสินค้าใต้ดินอันเลื่องชื่อ บริวเวอร์ไทยทำเบียร์อร่อยๆและสุดยอดสร้างสรรค์ออกมาจำหน่ายมากมายอย่างต่อเนื่อง ต่างชาติเดินทางมาเที่ยวชิมเบียร์เหล่านี้ก็มี จนถึงจุดที่บริวเวอร์จำนวนไม่น้อยก็ต้องการให้เบียร์ของตัวเองเป็นเบียร์ถูกกฏหมาย เพื่อให้คนมีโอกาสได้ดื่มแบบไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ ก็เลยกำทุนและกำสูตรไปยังโรงเบียร์เพื่อนบ้าน กัมพูชาบ้าง ออสเตรเลียบ้าง ต้มเบียร์และนำเข้าเบียร์ตัวนั้นมาอย่างถูกกฏหมาย โดยยอมเสียค่าเดินทาง ค่าวัตถุดิบที่บางอย่างก็ต้องขนไปเอง ค่าขนส่งเบียร์กลับเข้ามา ค่าเอกสารและภาษีนำเข้า ยิ่งผลิตจำนวนน้อย ต้นทุนต่อหน่วยยิ่งแพง รวมไปกับภาษีสรรพสามิตสุดโหดอีกต่างหาก เรามีคำเรียกเบียร์ไทยต้มนอกเหล่านี้ว่า Thai imported beer ค่ะ
ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นย่อมทำให้ราคาขายต้องเพิ่มขึ้นไปด้วยค่ะ แต่จะเพิ่มยังไงก็ยังถูกตรึงราคาให้ต่ำกว่าคราฟท์เบียร์นำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อให้คนไทยรู้สึกว่าเบียร์เหล่านี้เข้าถึงได้ไม่ยาก ไม่แพงเกินไป แต่ด้วยความที่บริวเวอร์เองก็คนธรรมดา ตาสีตาสานี่แหละ ไม่ได้มีเงินทำการตลาดอะไรมากมาย บางคนก็ยังทำงานประจำ ไม่มีเวลาไปขายเบียร์ตัวเองด้วยซ้ำ จึงไม่ต้องแปลกใจถ้าจะมีคำถามว่า “ไปหาคราฟท์ไทยดื่มได้ที่ไหน แทบจะไม่เคยเห็น” ทั้งที่ตลาดคราฟท์เบียร์ยังกว้างและมีช่องทางมากมายเหลือเกิน ผู้บริโภคไม่น้อยก็ยินดีเปิดใจทดลองเบียร์ไทยเหล่านี้ด้วย นี่เป็นเรื่องที่บริวเวอร์และดิสทริบิวเตอร์ทั้งหลาย ยังต้องทำการบ้านกันต่อไปค่ะ
สรุปสั้นๆ ง่ายๆ ว่า ในตลาดบ้านเราตอนนี้มีทั้งคราฟท์เบียร์ไทยมีแบบติดสแตมป์ (Thai imported beer) กับคราฟท์เบียร์ไทยไม่มีสแตมป์ (Homebrew) ตอนนี้ก็เริ่มมีเบียร์ไทยมีสแตมป์จาก Brewpub ในไทยมาบ้างแล้วด้วย ทั้งหมดจากฝีมือบริวเวอร์ไทย (หรือต่างชาติที่กลายมาเป็นคนไทยไปแล้ว) ซึ่งเราสามารถตามหาและสนับสนุนกันได้ในร้านคราฟท์เบียร์ไทยมากมาย ไม่ต้องโฆษณาแบรนด์ละกัน เพราะแค่ Google ว่า “คราฟท์เบียร์ไทย” ก็เจอแล้วค่ะ
คำถามสุดท้ายของบทความนี้ ทำไมเราต้องสนับสนุนคราฟท์เบียร์ไทย?
ถ้าใครได้เข้ามาลองลิ้มชิมรส หรือคลุกคลีกับคนดื่มเบียร์คราฟท์จริงจัง จะรู้เลยว่าการทำเบียร์ก็เปรียบเหมือนการสร้างงานศิลปะ เบียร์เปรียบเป็นผลงานของศิลปิน พวกเราผู้ดื่ม ก็เหมือนคนที่เสพงานศิลป์ทางตา จมูก และลิ้นนั่นเอง
แล้วศิลปินไทยที่มีความสามารถสร้างผลงานสากลระดับโลกได้แบบนี้ เราจะไม่สนับสนุนเหรอคะ