จบลงไปแล้วกับกิจกรรม Thai Craft Beer Week 2023 เทศกาลคราฟต์เบียร์ตลอดสัปดาห์ 20-28 ตุลาคม ที่ถึงแม้จะเป็นปีแรก แต่ก็ได้รับความร่วมมือจากร้านคราฟต์เบียร์ในหลายจังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงผู้ผลิต สื่อมวลชน และผู้บริโภคจำนวนไม่น้อย
อย่างไรก็ตาม บุคคลที่ต้องขอบคุณเป็นอย่างยิ่งก็คือ แขกรับเชิญของเรา ที่มาร่วมพูดคุยกันในงานแถลงข่าวและเปิดตัวกิจกรรมในวันที่ 17 ตุลาคม 2566 ได้แก่ นาวาอากาศตรีศิธา ทิวารี และ สส.เท่าภิภพ ลิ้มจิตรกร ซึ่งทั้งสองท่านได้ให้การสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเปิดเผยมาโดยตลอด และได้ร่วมพูดคุยกันในหัวข้อที่น่าสนใจก็คือ คราฟต์เบียร์ไทยกับการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งมีเนื้อหาที่มีประโยชน์มากมาย
ทางกรุ๊ปบีจึงได้ถอดบทสัมภาษณ์และเรียบเรียงไว้ให้อ่านกันทางนี้ค่ะ
พิธีกร: แต่ละท่านมีมุมมองเกี่ยวกับการที่คราฟต์เบียร์จะเป็นสินค้าเศรษฐกิจยังไงบ้างคะ?
เท่าพิภพ : ผมว่ามันน่าจะได้รับการส่งเสริม มันก็เป็นโปรดักส์ที่พิเศษ มันจะมีสินค้าสักกี่ประเภทที่มันเสียภาษีด้วยตัวมันเองอย่างเบียร์กับสุรา รถยนต์ก็ใช่ แต่ก็มีไม่เยอะครับ แล้วก็พิเศษสำหรับผมด้วย เป็นอาชีพของผมก่อนหน้าที่จะมาเป็น สส. ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่มีใครคิดหรอกครับว่า มันจะมีโรงเบียร์อย่างนี้อยู่แถวบ้าน ในอนาคตเนี่ย มันก็อาจอยู่ใกล้บ้านทุกคนได้ ใช่ไหมครับ
สิ่งที่มันเกินกว่าจินตนาการคือตรงไหนรู้ไหมครับ? ตอนแรกผมคิดว่า สุราขาวมันจะทำยาก แต่มันกลับแพร่หลาย ต่างจังหวัดก็ทำอยู่แล้ว และเราก็เห็นผู้ประกอบการหลายๆ คนจากวงการคราฟต์เบียร์ไปทำสุราท้องถิ่นได้ดี
ผมว่าก็เป็นการสร้างความภูมิใจและใช้วัตถุดิบท้องถิ่นได้นะครับ ดังนั้น ผมมั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า คราฟต์เบียร์พาให้เศรษฐกิจไปข้างหน้าได้ โดยเฉพาะเศรษฐกิจชุมชน เพราะผมเชื่อว่าโรงเบียร์ใหญ่ๆ ของประเทศไทยเนี่ย ไม่สามารถไปตั้งโรงเบียร์ได้ทุกจังหวัดหรอกครับ แต่ถ้าทุกคนจากทุกจังหวัดสามารถตั้งโรงเบียร์ได้ อันนั้นแหละทุกจังหวัดถึงจะมีโรงเบียร์เป็นของตนเองจริงๆ และเป็นความภาคภูมิใจของท้องถิ่น
บะหมี่ : จริงๆ เป็นลูกแม่ค้านะคะ เพราะฉะนั้นเนี่ยเวลาเห็นอะไรที่มันมีคุณค่าแล้วก็รู้ว่ามันเป็นที่ต้องการ เราก็รู้อยู่แล้วว่ามันสามารถเอามาใช้เชิงธุรกิจได้ แต่เหตุผลหลัก เพราะเราเป็นคนที่เปิดร้านคราฟต์เบียร์มาก่อน ดื่มมาก่อน ขนาดเรายังซื้อทำไมคนอื่นจะไม่ซื้อล่ะ? เหตุผลที่มาทำธุรกิจนี้ก็เพราะว่าเราเห็นศักยภาพของเขาตรงนี้แหละ
พี่ปุ่น : ผมนี่จะเป็นกลางมากนะครับเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถ้าใครดูใน TikTok ดูในยูทูบอะไรงี้ จะมีตอนที่ The Standard มาถาม ว่า เบียร์หรือไวน์ ผมชั่งใจแป๊บนึง แล้วก็ตอบว่า ได้ทั้งคู่เลย (ฮา)
ผมจะเป็นกลาง ผมจะไม่เข้าข้างไปทางเบียร์นะครับ แต่ที่มองว่ามันช่วยเศรษฐกิจพื้นบ้านของเราเนี่ย คือทุกๆ ประเทศที่เขาสนับสนุน เขาสามารถใช้เบียร์ เครื่องดื่มสุรา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็น soft power ของท้องถิ่นได้ แต่บ้านเรานี่มันโดนล็อกโดยการที่คนไทยถูกบีบให้รู้จักเหล้าเบียร์อยู่แค่ไม่ถึง 10 ยี่ห้อเอง
พิธีกร : อย่างเกาหลีนี่ โอ้โห มากมายมหาศาล แล้วเป็น soft power ที่แข็งแรงมาก
พี่ปุ่น : ใช่ เกาหลี หรือแม้กระทั่งประเทศอย่างญี่ปุ่น แล้วก็เราเสียโอกาส กลายเป็นว่าเราต้องไปผูกอยู่กับเหล้าเบียร์ไม่กี่ยี่ห้อ เพราะขออนุญาตยากมาก คนไทยก็ทำมาหากิน แต่แค่พยายามจะดูว่าจะผลิตยังไงก็โดนแล้ว ถ้าจะผลิต ต้องเป็นผู้ผลิตขนาดใหญ่ 10 ล้านลิตรต่อปี รายย่อยก็ต้องแสนลิตรต่อปี ซึ่งมันทำไม่ได้ พอทำไม่ได้ กลายเป็นว่าต้องไปทำที่ต่างประเทศ ไปทำที่เวียดนาม ไปที่ต่างๆ แล้วทุกวันเนี้ย คนไทยที่มีฝีมือไปผลิตคราฟต์เบียร์ที่เวียดนาม ส่งกลับมาขายเมืองไทย ภาษี วัตถุดิบอะไรต่างๆ ก็เสร็จเขาหมดครับ รายได้เป็นของเวียดนาม แล้วพอได้รางวัลกลายเป็นว่า รางวัลตกเป็นของเวียดนาม แล้วก็ส่งมาขายเมืองไทยก็ราคาแพงขึ้น ก็สู้กับแบรนด์ดังๆ ไม่ได้
ห้ามโฆษณา พอห้ามโฆษณาก็รู้จักอยู่ไม่กี่ยี่ห้อ ก็กินอยู่ไม่กี่ยี่ห้อ คือถ้าเกิดไม่อนุญาตให้โฆษณา แล้วต้องเสียค่าปรับนี่ ผมว่า เอาเหมาจ่ายไปเลยดีกว่า เหมาปีนึงเนี่ย อยากอะไรก็ได้เลย เหมาไปแสนบาทแล้วก็โฆษณาไปทั้งปี
คำว่า คราฟต์เบียร์ มันจะมีความละเอียดอ่อนของมันน่ะ แต่มันก็สามารถจะมา pair กับอาหารได้ อย่างสมมติไปกินอาหารทะเล กินอาหารอีสานเนี่ย ถ้าใครอยากกินกับไวน์ขาว ก็แล้วแต่เขาแล้วกัน แต่เราส่วนมากก็อยากกินเบียร์ ส่วนมากหากินกันได้ง่ายๆ ถ้าเป็นอย่างนี้ เขาสามารถทำได้เลย สมมติส้มตำที่จังหวัดนี้อร่อย อาหารที่นี่อร่อย แล้วก็มา pairing กับเบียร์ท้องถิ่น
เท่าพิภพ : เหมือนพี่ปุ่นพูด อย่างบ้านเรา เรามีอาหารซีฟู้ดที่ระยองอย่างนี้ เวลาไปเที่ยวหาดแม่พิมพ์ โอ้โห กุ้ง ปลาหมึกสด หมึกนี้ต้องกินกับเบียร์ Saison ออกมามีรสฟรุตตี้ใสๆ ทำให้อร่อยขึ้น
พี่ปุ่น : ผมไปที่ช่างชุ่ยครับ มีเบียร์ระยอง ผู้ผลิตใครรู้ไหมครับ นักเรียนนายเรืออากาศรุ่นน้อง
นักเรียนนายเรืออากาศเขามาผลิตเบียร์ หุ้นส่วนก็คือเพื่อนๆ ในรุ่นเดียวกันที่ระยอง วันหลังลองไปชิมดู ผมก็จำยี่ห้อไม่ได้ เป็นเบียร์สตรอเบอร์รี่ ผู้หญิงทานแล้วน่าจะชอบ
หรือเบียร์ผักตบชวา
เท่าพิภพ : วัสดุเหลือใช้นะครับ หรือเบียร์ทำจากน้ำที่รีไซเคิล คือมันทำได้หลายอย่างครับ มันเป็นแบรนดิ้งน่ะครับพี่ปุ่น ย้อนกลับมาว่า สร้างเศรษฐกิจยังไง มันคือการสร้างแบรนดิ้งใช่ไหม ตอนเนี้ยคือทุกอย่างเนี่ยมัน democratization ไปแล้ว มันเหมือนเป็น “ประชาธิปไตย” ไปหมดแล้ว เช่น ความรู้อะไรอย่างนี้ ยกเว้นประเทศเรานะ แต่ทุกๆ อย่าง เราหาได้ทางอินเทอร์เน็ต อินเทอร์เน็ตมันทำให้ทุกคนเท่ากัน คุณอยากทำเบียร์ คุณอยากรู้วิธีการเขียนโปรแกรม คุณไปดูอินเทอร์เน็ตยูทูบ มีหมดใช่ไหม
แต่สิ่งเดียวที่โลกใบนี้ยังไม่พรากไปจากเรา คือ localization คุณไม่สามารถบอกว่า “ผมทำเบียร์อุบลราชธานี” แต่ทำที่อเมริกา แล้วบอกว่าเป็นเบียร์อุบล หรือเบียร์พิษณุโลกได้ถ้าคุณทำที่อื่น หรือใช้วัตถุดิบที่ไม่เหมือนกัน อย่างผมไปเลยล่าสุด เขาก็จะมีสับปะรดของเขาที่เอามาทำ คือที่อื่นก็ทำสิ่งนี้ไม่ได้ แย่งสิ่งนี้กับเขาไม่ได้
ทุกคนทำเบียร์ได้หมด คนธรรมดาก็เลยทำเบียร์ได้ใช่ไหมครับ แต่สุดท้าย การ pairing การขยายธุรกิจของคุณต่อไปเนี่ย คุณก็ต้องเน้นความเป็น Local ของคุณอยู่แล้วครับ
พี่ปุ่น : มันเพิ่มกิมมิคให้แต่ละพื้นที่ คนทั่วไปกินกาแฟ นึกอะไรไม่ออกก็จะมี Starbucks แต่มีคนประเภทที่ไปที่ไหนเขาต้องเสิร์ช ไป hopping ไปดู coffee specialty แล้วก็ไปกิน แต่ละร้านเดี๋ยวนี้มันก็เช็คเรตติ้งได้
กลับกัน ถ้าไปที่ไหนก็เจอแต่สตาร์บัคส์ สตาร์บัคส์ สตาร์บัคส์ เหมือนเมืองไทยไปไหนก็เจอแต่เบียร์ยี่ห้อเดิมๆ ไม่มีอะไรที่น่าภูมิใจให้เขาต้องมา แต่พอมันเป็นแบรนด์ท้องถิ่น คนมันจะดั้นด้นไปกิน
พิธีกร : แต่ละท่านก็ลงพื้นที่กับลงชุมชนกันมาประมาณหนึ่ง คิดว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นชุมชน มีความท้าทายหรือความยากง่ายยังไงบ้าง
พี่ปุ่น : เป็น สส. ตั้งแต่ปี 44 ก็ 22 ปี ทำงานอยู่ในชุมชนคลองเตย เราเห็นเรื่องนี้มาเยอะ ก็มองว่าประเทศเสียโอกาสมาก ในการที่นโยบายต่างๆ ของรัฐบาลไปสนับสนุนนายทุนรายใหญ่ทั้งหมดทุกสมัยเลย นายทุนเหล่านี้แหละคือคนที่มาสนับสนุนพรรคการเมือง มันต่างจากเมื่อก่อน คือเมื่อก่อนเวลานายทุนมาสนับสนุนพรรคการเมืองเนี่ย เขาจะพินอบพิเทานักการเมืองนะ ก็จะเกิดเรื่องการทุจริตเชิงนโยบาย มีการสนับสนุนกัน ก็จะรวยกันขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเป็นมหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของประเทศ รวยแบบดับเบิ้ล เป็นแสนล้าน เคยเป็นอันดับหนึ่งแสนล้านเมื่อสิบปีก่อน ต่อมาเป็นเจ็ดแสนล้านในสมัยนี้ คือมันดับเบิลอัพมาตลอด
ซึ่งตรงนี้เนี่ยมันทำให้ gap ช่องว่างคนรวย-จน มันห่างไปเรื่อยๆ จนกระทั่งทุกวันนี้ ก็ไปสนับสนุนเฉพาะธุรกิจของเจ้าสัว มันเป็นอย่างนี้เกือบทุกเรื่อง ถ้าแตะเรื่องทางการเมืองนิดนึงก็อย่างเช่น การแจกเงิน ถ้าถามผมนะ ไม่จำเป็นต้องกำหนด Area แต่กำหนดไปเลยว่า ต้องอุดหนุนเศรษฐกิจชุมชน
เพราะในที่สุด พอเศรษฐกิจชุมชนทำธุรกิจ เค้าก็ต้องไปซื้อของตรงนั้นตรงนี้ แล้วในที่สุดก็จะไปจบลงที่รายใหญ่อยู่ดี แต่ว่าเงินมันหมุนไปหลายรอบ ซึ่งการหมุนเวียนมันจะไม่เกิดเลย ถ้าเงินนั้นไปลงที่รายใหญ่ตั้งแตแรก เขาเป็นส่วนบนสุดของห่วงโซ่อาหาร ถ้ามันไปจบที่เขา เงินมันก็หมุนไม่ได้
เพราะนั้น มันต้องปรับไป อย่างพวกเหล้าพวกเบียร์ ที่ตอนนั้นเท่าเข้าไปคุยกับเบียร์สิงห์ ผมว่าเขาก็รู้ ว่าถ้าปล่อยให้เป็น monopoly ต่อไป เขาก็จะมีกำไรมากกว่าคนอื่น แต่ว่าเทรนด์ของโลกมันไม่ได้ เขาก็ยอม แล้วก็ปรับตัวมาเป็นคนซัพพอร์ต ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี มันควรจะเกิดขึ้น
สิ่งที่ประเทศเราควรจะทำคือ คุยกับนายทุนเหล่านี้แล้วบอกว่า เฮ้ย ถ้าช่องว่างมันห่างไปเรื่อยๆ อีกหน่อยมันก็ไม่เหลือทรัพยากรอะไรที่เขาจะมาอุดหนุนคุณแล้ว คุณจึงต้องคืนให้กับสังคม แล้วทีนี้ทำยังไง จัดประกวดในแต่ละท้องถิ่นเลย ทุกอย่าง อย่างเช่น เรามีเครือข่ายของร้านที่เป็นแฟรนไชส์ ในร้านอาจจะขายเบียร์สัก 20 ยี่ห้อ โดยจะมีเบียร์ยี่ห้อดังอยู่แล้ว 4-5 ยี่ห้อที่ผูกขาด ที่เหลือเนี่ยจัดประกวดในท้องถิ่น แล้วอันไหนชนะ เราเอาเข้ามา แล้วเข้าไปถือหุ้นแต่ละรายก็ได้ ทำอย่างนี้มันก็จะเจริญ
จริงๆ ถ้ารัฐบาลจะสนับสนุน Soft Power จะสนับสนุนธุรกิจ SMEs หรือว่าชาวบ้านอย่างแท้จริง ยกเลิกกฏหมายตั้งแต่วันนี้เลย กฎหมายบ้านเราเนี่ยมันมีไว้บล็อกการทำมาหากินของพี่น้องประชาชนนะ แบบนี้ต้องแก้ไข
เท่าพิภพ : เห็นด้วยกับพี่ปุ่นหมด แล้วก็มีเรื่องการประหารกฎหมาย เข้าใจเนอะ เป็นหนึ่งในปัญหาของหลายๆ อย่างที่จะพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนนะครับ พอเราไปดูโรงเหล้าโรงเบียร์หลายๆ ที่นี่ โดยเฉพาะสุราชุมชน หรือว่าอย่างพื้นที่ผมเอง มันมีของดีเยอะครับ แต่ที่เจอคือ หนึ่ง ส่วนใหญ่ขาดเงินทุน ไม่สามารถสเกลธุรกิจไปได้ การเข้าถึงเงินทุนแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย โดยเฉพาะคนในรุ่นผม นโยบายการเงินภาครัฐก็ไม่ค่อยปล่อยกู้ ไม่ค่อยกล้าเสี่ยงให้ไอเดียใหม่ๆ มันก็เลยไม่เกิดสตาร์ตอัพ ประเทศไทยไม่มีทางมียูนิคอร์น ถ้านโยบายการเงินเราไม่เปลี่ยน ถ้าเราไปแก้ไขผิดทาง ให้คุณมีเอ็นจิเนียร์ทั้งประเทศ แต่คุณไม่มี financial infrastructure คุณก็ไม่มียูนิคอร์นหรอกครับ ไม่มีใครสามารถเป็นยูนิคอร์นได้
ประเด็นที่ 2 เรื่ององค์ความรู้ อันนี้ในแง่ของการตลาดซะเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงช่องทางการขายหรืออะไรนี่ด้วยนะ ซึ่งจริงๆ หน่วยงานภาครัฐผมก็เห็นใจนะ พยายามอยู่ อย่าง DEPA เนอะ หรือสำนักงานเศรษฐกิจศึกษาสร้างสรรค์ CEA ก็กำลังทำตรงนี้อยู่ ทั้งสำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์
ซึ่งผมมองว่ามันก็ยังไม่พอหรอกนะครับ การที่จะให้หน่วยงานรัฐที่ใหญ่ๆ ที่เดียวมาทำ ผมคุยกับคนในหน่วยงานก็เข้าใจ เชียงใหม่ดีไซน์วีค แบงกอกดีไซน์วีค ก็คือทำน่ะ แต่ปีนึงทำได้สักสิบเมืองก็เก่งแล้ว
ผมเลยเชื่อว่าสุดท้ายเนี่ย มันต้อง decentralize ออกไปครับ อย่างในสิงคโปร์เนี่ยเขาจะมีที่เรียกว่า city planner หรืออะไรต่างๆ ที่เขาทำงานกับเมืองขนาดเล็ก แล้วเขาจะ localize ทุกอย่าง ทำทุกอย่างจากคนที่อยู่ในย่านนั้นหรือเมืองของเขา หลายประเทศก็ทำ ญี่ปุ่นก็เป็นอย่างงี้ ทำไมญี่ปุ่นอะไรมันก็ดัง เพราะเมืองเขาผลักดัน
อย่างบ้านเรา สส.เวลาอภิปรายงบประมาณเรื่องท่องเที่ยว มายเซ็ตของสส. เนี่ย ถ้าท่องเที่ยวไปไหน ที่นั่นเจริญ ซึ่งมันก็ถูกอย่างผิดอย่าง เขาจะบอกว่า “โอ้ จังหวัดฉันดีอย่างนู้นอย่างนี้ ขอเครื่องบินไปลงหน่อยครับ” ถ้าเราทำตามสส. พูด คือทุกจังหวัดมีสนามบินหมดละ ถามว่ามันแก้ปัญหาจริงๆ ไหมครับ ไม่ใช่ สุดท้ายมันควรจะเป็นอำนาจท้องถิ่นที่เขาทำเป็นวาระของ เขาจะพัฒนาเมืองยังไง ไม่มีใครจะไปรู้ดีกว่าเขา ผมเชื่อในตรงนี้
ผมไม่เคยเป็นสส.ที่ลงชุมชนไปบอกว่า เฮ้ย อันนี้จะช่วยทำ ผมไม่เคยบอกว่าผมจะไปโปรโมทอะไรให้ใครนะ ผมมีหน้าที่ดึงทุกคนเข้ามา แล้วคุยกัน แก้ปัญหาไป คือผมเชื่อว่าถ้าให้คนได้ความแฟร์ แล้วก็มีคุณภาพชีวิตที่ดี เขาก็จะพัฒนาโปรดักท์ของเค้าได้เอง ประเด็นการพัฒนาเนี่ยมันก็จะมีสรุปแบบของพี่ปุ่นเนอะ กับของผมนี่แหละครับ
บะหมี่ : เท่าที่ฟังมาเหมือนทั้งสองท่านก็เห็นว่าชุมชนหรือท้องถิ่นก็ขับเคลื่อนตัวเองอยู่แล้ว คิดว่าชุมชนกับท้องถิ่นก็พยายามจะสร้างความแข็งแกร่งให้ตัวเอง แต่ต้องการความสนับสนุนจากภาครัฐ ถูกต้องไหมคะ
พี่ปุ่น : เมื่อกี้ผมพูดถึงกฎหมายนี่ คือกฎหมายในบ้านเราที่ไม่มีความจำเป็น นอกจากไม่มีความจำเป็นแล้วยังมาขัดขวางการทำมาหากินของพี่น้องประชาชน ซึ่งเหล่านี้เนี่ย สามารถจะออกกฎหมายใหม่หรือยกเลิกทั้งหมด หรือว่าพักไว้ก่อน พักการบังคับใช้กฎหมายสัก 2-3 ปี แล้วก็ให้ชาวบ้านสามารถทำได้ ทำมาหากินได้ สามารถที่จะโฆษณาเหล้าเบียร์ได้
จริงๆ ถ้ามีกฎหมายที่ชัดเจน และมีการบังคับใช้กฎหมายที่ถูกต้องจากภาครัฐ คือไม่ใช่ว่าคนที่จ่ายเงินใต้โต๊ะจะทำได้ คนที่ไม่จ่ายเงินทำไม่ได้ แบบเนี้ย มันสามารถกระจายความเจริญได้ และที่สำคัญคือบ้านเราเนี่ย เหมือนกฎหมายทุกอย่างนี่เป็นเสื้อผ้าโหล ที่ตัดมาตัวนึงแล้วทุกคนต้องใส่แบบนี้หมด ซึ่งมันคืออะไร มันก็คือคนที่เป็นข้าราชการ หรือคนที่อยู่ในคุกเพราะต้องใส่ให้เหมือนๆ กัน
แต่จริงๆ มันแตกต่าง แตกต่างยังไง? ตัวอย่าง เช่น ถ้าเราไปถามคนในตรอกข้าวสาร หรือป่าตองภูเก็ต หรือพัทยาใต้ว่า “เฮ้ย ตอนกลางคืน คนจะหลับจะนอนเนี่ย เอาเงียบๆ ดีไหม พอสักตีหนึ่งตีสองก็ปิดให้หมดเลย” เขาจะบอกว่า “ไม่ต้องมายุ่ง ไม่ต้องมาคิดแทน ถ้าจะนอนก็กลับไปนอนบ้าน นี่มันที่หาเงิน แล้วฝรั่งเขาอยากเที่ยวแบบนี้”
ดังนั้นหลายๆ อย่างที่เราบอกว่าเป็น Soft Power คืออะไร คือจริงๆ แล้วต้องโชว์เอกลักษณ์ โชว์จุดเด่น โชว์ Thainess ไป แต่ว่า Thainess ทำยังไง ต้องเอา Thainess มาบวกกับ Global Mindset คือบวกกับว่าต่างชาติเขานิยมยังไง เราก็ทำแบบนั้น คนที่อยากมาเที่ยวเมืองไทยคือ อยากเที่ยวยันแจ้ง เที่ยวยันสว่างเนอะ แล้วมันติดกฎหมาย เพราะฉะนั้นวิธีแก้ก็คือ ถ้าเราเขียนกฎหมายที่ไม่ใช่ตัดเสื้อผ้าโหล มีกรอบ เหมือนเป็น window ไว้แบบนี้ แล้วให้แต่ละท้องถิ่น แต่ละชุมชน แต่ละจังหวัดเนี่ยเขียนธรรมนูญท้องถิ่นของตัวเอง ใครจะค้านก็ค้าน ก็ไปตกลงกันให้เสร็จ ที่ที่คิดว่ามันเป็นแหล่งอบายมุข เป็นที่ซ่องสุมอะไร ก็มีกฎหมายที่ชัดเจน แล้วเจ้าหน้าที่รัฐก็เลิกไปเก็บเงินใต้โต๊ะ ถ้าแบบนี้เนี่ยมันจะพัฒนา
พิธีกร : ถ้าในสายศิลปะ เราจะนึกถึงบางกอกดีไซน์วีค หรืออาจจะมีไทยแลนด์เบียนนาเล่ ซึ่งพอเป็นสายคราฟต์เบียร์ ไทยคราฟต์เบียร์วีคนี่เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย งานนี้ครั้งมีความเหมือนต่างยังไงกับงานสายศิลปะที่ว่ามา
บะหมี่ :
งานฝั่งอาร์ตที่เอ่ยชื่อมา มันก็เหมือนเป็นการโชว์ของดีของตัวครีเอเตอร์ แล้วก็ของตัว venue โดย venue ก็คือร้านใช่ไหมคะ เขาก็จะไปจับมือกับครีเอเตอร์ซึ่งอยู่ในร้านอยู่แล้ว หรือว่าคนข้างนอกที่สนใจจะมาจอย ทำโปรดักส์ แล้วก็โชว์สิ่งเหล่านี้ออกมาในอีเวนต์
Thai craft beer week ก็มีวิธีคิดเดียวกัน ก็คือว่าเราอยากให้ร้านโชว์ของดีของตัวเอง หรือผู้ผลิตโชว์โปรดักต์เจ๋งๆ ของตัวเองในอีเวนต์นี้ สิ่งที่ต่างก็คือว่า อันนี้อาจจะดูบันเทิงกว่าหน่อย แล้วก็อาจจะต้องมีการควบคุมดูแลกันนิดนึง เพราะว่าเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เราก็ไม่อยากให้มันสร้างผลเสียกับใคร แต่โดยรวมแล้วมันก็คือการที่กระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นโดยการสร้างอีเวนต์หรือคอนเทนต์จากตัวเจ้าของเอง ไม่ใช่ว่าเราลงไปคิดแทนหรือทำให้อะไรให้ทั้งหมด ก็จะเป็นรูปแบบประมาณนี้ค่ะ
เท่าพิภพ : จริงๆ ผมว่ามันก็ดีครับ เหมือนทั้งเมืองทั้งประเทศก็ celebrate กัน จริงๆ ผมว่ามันมีหลายมุมมองของเรื่องเบียร์ คือมันไม่ใช่แค่น้ำเบียร์ มันคือดีไซน์ของฉลากเบียร์ มันอาจจะเป็นแกลเลอรี่ที่รวบรวมฉลากเบียร์ อาจจะของตัวเอง หรือสตอรี่ของแบรนด์ตัวเอง SME อย่างนี้ก็ทำได้นะผมว่า ก็ทำได้หมด หรือว่าอาจจะเป็นร้านนึง สมมติ Doc Club เนอะ เปิดสารคดีเกี่ยวกับเบียร์สักวีค ก็เป็นไปได้
พี่ปุ่น : เปรียบเทียบระหว่างเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศญี่ปุ่นกับไทย มูลค่าประมาณประมาณ 3-4 แสนล้าน เท่ากันกับของญี่ปุ่น แต่ของเราเนี่ยมียี่ห้อไม่เยอะ ของญี่ปุ่นมีหลายหมื่นยี่ห้อมาก ซึ่งในเม็ดเงินเท่ากันเนี่ย มันกระจายไปทั้งหมด ทีนี้กลับมาดูใหม่ว่าในการกระตุ้นเศรษฐกิจนี่ สมมุติเราจ่ายเงินดิจิทัล 500,000 ล้าน แจกไปนี่ผมเชื่อว่ากว่าครึ่งจะไปลงที่นายทุนรายใหญ่ตู้มเลย แต่ถ้าเกิดเรามีการกระตุ้นแบบนี้ หรือว่าถามคนที่ทำคราฟต์เบียร์นี่ว่า เอาไหมคนละหมื่น หรือว่ารัฐไม่ต้องจ่ายสักบาทเลย แต่ยกเลิกกฎหมายที่เอื้อนายทุน แล้วทำให้ประชาชนสามารถทำมาค้าขายได้ เราจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากกว่า โดยที่ไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาครึ่งล้านล้าน
คือจะบอกว่า ถ้าคิดแล้วแก้ปัญหาพวกนี้โดยวิธีแบบนั้น มันอาจจะไม่ต้องใช้เงินมากก็ได้ หรือจะสนับสนุนเราเรื่อง soft power อะไรต่างๆ ถ้าเกิดสนับสนุน soft power โดยการสนับสนุนเพื่อให้คนสามารถทำมาหากิน และนำ soft power มาทำมาหากินได้ มันจะยั่งยืนและเป็นประโยชน์ของชาติ
พิธีกร : เบียร์มันสร้างแรงกระเพื่อมได้มากกว่าในแก้ว
เท่าพิภพ : จริงๆ มันหลักการเนอะ เราทำเบียร์นี่ มันไม่ใช่แค่ร้านนี้ขายเบียร์แล้วได้แค่ร้านนี้ แต่มันคือคนขับแท็กซี่ ร้านขายของชำในชุมชนก็ได้ขายบุหรี่นะ ผมก็เห็นคนไปซื้อบุหรี่เยอะ มันก็ไปเรื่อยๆ คนทำเครื่องต้มเบียร์ก็ได้ วิศวกรคนไทยทำก็ได้ เครื่องพวกนี้มันไม่ได้ยากหรอก เวลามันปลดล็อก มันก็จะช่วยได้หลายอย่าง
พิธีกร : Thai Craft Beer Week ครั้งนี้ เป็นเบียร์เฟสจริงจังครั้งแรกของประเทศไทย แต่ละท่านมีความคาดหวังยังไงกับเฟสติวัลนี้ แล้วก็อยากฝากอะไรถึงผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์ไทย
เท่าพิภพ : จริงๆ ผมไปเบียร์เฟสมาหลายที่ ผมว่ามันก็มี reference มากมายหลายเนอะ ลองทำดูครับ ปีแรกผมว่าอาจจะไม่ได้เพอร์เฟคต์อะไรหรอก คือผมก็ไม่ได้คาดหวังนะ แต่ว่าปีต่อไปก็ทำเรื่อยๆ ผมเคยไปที่สิงคโปร์ มีงาน SEA Brew จัดเป็นประกวดเบียร์ แล้วมีขายเบียร์ตรง Marina Bay สักพักมาแล้วกลายเป็นอีเวนต์เบียร์เลย เหมือนซีเกมส์น่ะครับ SEA Brew เหมือน ซีเกมส์
บะหมี่ : อีเวนต์ตอนนี้ชื่อว่า Brew Asia ค่ะ
เท่าพิภพ : เป็นงานคราฟท์เบียร์ระดับเอเชียไปแล้วอ่ะ คือเคยจัดที่ไทย เคยจัดที่ฟิลิปปินส์ด้วย แต่ก่อนผมจะไปทุกปี เหมือนเราก็ไปเจอบริวเวอร์ที่เป็นเพื่อนเราใน Southeast Asia เดี๋ยวเวียนไปเวียดนาม ไปประเทศไหนก็จะแตกต่างกัน แต่ประเทศที่ห่วยที่สุดเนี่ยคือมาจัดที่ไทย เพราะไม่มีเบียร์ไทยให้กิน
คือปกติเขาจะไปกัน 7 วัน ก็จะมีคอนเฟอเรนซ์นะ มีประกวดเบียร์นะ แล้วตอนเย็นจะพาไปโรงเบียร์นั้นโรงเบียร์นี้ ก็จะคุยกันเรื่องธุรกิจด้วย มีคนขาย มี brewer เจอกัน ได้แลกเปลี่ยนเทคนิค คราฟต์เบียร์มันเป็นอินดัสทรี่ที่น่ารัก ทุกคนก็จะไม่ค่อยกั๊กความรู้กัน ผมก็อยากให้มันมีภาพอย่างนั้นเนอะ แม้อาจจะไม่ได้อินเตอร์เนชั่นแนลเท่าไหร่ แต่ถ้าชวนต่างประเทศมาได้ด้วยก็สนุก ตอบโจทย์ที่รัฐบาลพยายามทำให้เราเป็นศูนย์กลาง แต่ผมว่ายาก เพราะว่าแต่ละประเทศจะเอาเบียร์เขามา พอเข้ามาไทย โอ๊ย เดี๋ยวต้องไปทำเอกสารอย่างนั้นอย่างนี้ สองปีนู่นมั้ง กว่าจะได้มา เผลอๆ โรงเบียร์เจ๊งไปแล้ว (ฮา)
ผมก็อยากเห็นภาพอย่างนั้น แล้วก็จะได้กระจายรายได้ ปีหน้า ถ้าจัดดีๆ คนก็น่าจะมาร่วมเยอะ สนุกดีครับ
พี่ปุ่น : เชื่อว่าเป็นการกระตุ้นที่มีประโยชน์ แต่ว่าการกระตุ้นเนี่ยมันเป็นแค่การกระตุ้นทำให้ภาครัฐเห็นว่าคนไทยสนใจคราฟต์เบียร์เยอะ แล้วก็มีคนไปร่วมงานกันเยอะ เหมือนเราไปที่ช่างชุ่ยนี่ เห็นภาพเลยว่า มันแน่นเลย คนสนใจเยอะจริงๆ มันเห็นภาพ เหมือนกับเราสอนรัฐบาลว่า “มันได้จริงๆ โว้ย กระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง” ทำให้เขารู้สึกว่าต้องสนับสนุน ซึ่งจริงๆ แล้วถ้าถามผม ผมบอกว่ามันคือ soft power ถ้ารัฐบาลทำแล้วได้คะแนนเสียงด้วยนะ บอกว่า “เราจะผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ให้เป็นวาระแห่งชาติ” แล้วก็ทุ่มเม็ดเงินเข้ามาสนับสนุน ซึ่งคราฟต์เบียร์ ไวน์ สุราของกินต่างๆ นี่ มันก็จะเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ แล้วจะทำให้คนไทยเนี่ยสามารถลืมตาอ้าปากได้ แต่ปัจจุบัน เราทำอย่างนี้ Thai Craft Beer Week แล้วยังไงล่ะ ทำไป
เท่าพิภพ : คือไม่ใช่รอแต่เอกชนจะมาทำ รัฐต้องช่วยทะลายกำแพงบ้าง
พี่ปุ่น : ซึ่งตรงนั้นคือ มันมีอิมแพ็กอาจจะ 80- 90% ของทั้งหมด ไอ้ 10% ที่ประชาชนทำได้แล้วโดนกฎหมายปิดกั้นอยู่นี่ เขาทำกันหูตูบแล้ว คือใน 10 % นี่ เขาทำไปแบบ 90% ของ 10 แล้ว อีก 90% ที่เหลือเนี่ยไม่ทำอะไรเลย อย่างนี้มันไม่ได้ ผมว่ามันส่งผลในการสร้างภาพและก็สอนรัฐบาลว่า ไอ้เนี่ยมันมีประโยชน์ต่อประชาชนจริงๆ
บะหมี่ : พอเชิญทั้งสองท่านมาคุยกัน มันได้วิธีคิดที่ลึกมากไปกว่าแค่การจัดงาน มีในมุมมองหลักการเรื่องเศรษฐกิจด้วยสังคมการเมืองด้วย ครบถ้วนจริงๆ ขอบคุณมากๆ ค่ะ